วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

หน้าประวัติศาสตร์ : ข้อเท็จจริงของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล (ยิว) และปาเลสไตน์

ความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์มีที่มาจากชาวยิวที่เชื่อในพระคัมภีร์ยิวที่ว่าพระเจ้าได้ประทานดินแดนแห่งนี้ให้เป็นบ้านของชาวยิวและหวังว่าจะได้กลับมาครอบครองดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง ดังนั้นเมื่อปี ค.ศ.1897 ชาวยิวในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงได้รวมตัวกันตั้งองค์การยิวสากล หรือ Zionist (ไซออนนิสต์) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งคนยิวกลับมาตั้งถิ่นฐานและสร้างชาติยิวขึ้นใหม่ในดินแดนปาเลส ไตน์ หลังจากที่ชาติยิวโบราณในดินแดนนี้ได้ล่มสลายไปแล้วกว่า 1,000 ปี โดยปลุกความคิดในเรื่องการนับถือศาสนาแล้วใส่ความคิดชาตินิยมเข้าไป และเตรียมการที่จะก้าวไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายตามความเชื่อนี้ วิธีการของยิว วิธีการที่ทำให้ไซออนิสต์ดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ได้คือการใช้การสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกรวมทั้งอังกฤษซึ่งในขณะนั้นอังกฤษยึดครองปาเลสไตน์อยู่ โดยพยายามเชิญชวนให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันระหว่างประเทศเหล่านั้นกับองค์กรไซออนิสม์สากล โดยอังกฤษได้ออกกฎหมายให้มีการอพยพชาวยิวเข้าไปได้ปีละ 16,500 คนและยังได้ออกกฎหมายให้ชาวยิวควบคุมกิจการไฟฟ้าและชลประทาน และให้ชาวยิวใช้สินแร่สำคัญของประเทศซึ่งเป็นการเอาเปรียบชาวอาหรับที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมซึ่งเป็นจำนวนถึง 88% ของประเทศ นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาก็พยายามจะนำตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมตลอดเวลา เช่น ให้ความช่วยเหลือชาวยิวในการลักลอบเข้าไปในปาเลสไตน์ ในปี ค.ศ.1918 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไซออนิสต์ในปาเลสไตน์ขึ้น และอ้างว่าเป็นตัวแทนของชาวยิวทั่วโลกโดยจะมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลอังกฤษในปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับชาวยิวที่อพยพเข้ามา หลังจากนั้นไม่นานองค์กรนี้ก็ได้กลายมาเป็นรัฐบาลที่สองคู่กับรัฐบาลอังกฤษในปาเลสไตน์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องชาวยิว อพยพ ตั้งระบบการศึกษาและสุขาภิบาลเพื่อชาวยิว และนายยาโบตินสกี้ ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายขวาของ ไซออนิสต์ได้จัดตั้งกองทัพใต้ดินของชาวยิวชื่อ ”ฮานากาห์” ขึ้นมา เมื่ออังกฤษมีกำลังอ่อนแอลงรวมทั้งไม่ยอมเพิ่มโควตาการอพยพของชาวยิวเข้ามา ทำให้กองทัพฮานากาห์ต่อสู้กับอังกฤษและ ก่อการร้ายในปาเลสไตน์ โดยพวกไซออนิสต์ได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้อังกฤษไม่สามารถดูแลปาเลสไตน์ต่อไปได้ และถอนตัวออกไปในปี ค.ศ.1948และส่งมอบความดูแลของปาเลสไตน์ให้องค์การ สหประชาชาติต่อไป



การเข้ามามีอำนาจเหนือยิวของสหรัฐอเมริกาและชนวนความขัดแย้ง

เมื่ออังกฤษหมดอำนาจไป สหรัฐอเมริกาก็รีบเข้ามาจัดการกับปาเลสไตน์ทันที สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการตั้งรัฐยิวซ้อนขึ้นมาในปาเลสไตน์แทนที่จะแบ่งดินแดนกันจะเป็นประโยชน์ของอเมริกาในเอเชียตะวันตกมากกว่า จึงได้มีการจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้อิสราเอลเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการแสวงหาผลประโยชน์ในแถบตะวันออกกลาง หรือให้อิสราเอลเป็นยามเฝ้าน้ำมันในตะวันออกกลางนั่นเองและใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านกลุ่มประเทศอาหรับเมื่อมีประเทศในกลุ่มอาหรับมีความเห็นขัดแย้งไปจากสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐได้สนับสนุนทางการเงินและทางด้านอาวุธ โดยช่วงแรกมีการส่งไปอย่างลับๆ อีกทั้งยังเสแสร้งว่าไม่ทราบว่ามีการขนอาวุธเข้าไปในปาเลสไตน์โดยชาวยิว และก็มีการให้แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันนีตะวันตกส่งอาวุธเข้าไปด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เปลี่ยนมาเป็นการส่งแบบเปิดเผยแทน อิสราเอลจึงกลายเป็นฐานทัพที่ เข้มแข็งของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มประเทศอาหรับเป็นอย่างมากจนเกิดเป็นชนวนความขัดแย้ง
การต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ หลังจากการเข้ามาครอบครองดินแดนโดยอิสราเอลแล้ว ชาวปาเลสไตน์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของดินแดนอธิปไตยของตนเอง ดินแดนซึ่งเป็นของชาวปาเลสไตน์แต่กลับถูกยึดครองจากชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีความผูกพันทางเชื้อชาติใด ๆ และไม่มีสิทธิใด ๆที่จะมายึดเอาดินแดนของตนไป ชาวปาเลสไตน์จึงมีการต่อต้านโดยใช้วิธีการต่าง ๆ ทั้งวิธีการทางการเมือง วิธีการทางทหาร และการใช้ความรุนแรง แต่กระนั้น ประชาชนต่างก็ทำไปเพื่อปลดปล่อยดินแดนของตนจากการถูกแย่งชิงไป ซึ่งหลายครั้งที่ก่อให้เกิดสงครามและการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อระหว่างเจ้าของดินแดนและผู้ยึดครอง จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดที่ยิวกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ในรอบ 60 ปี หลังจากได้ปิดล้อมฉนวนกาซา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมาทำให้ชาวปาเลสไตน์เดือดร้อนเป็นอย่างมาก



กลุ่ม ฮามาส (Hamas)

ฮามาสนั้นเป็นกลุ่มที่เกิดมาจากขบวนการภราดรภาพมุสลิมในประเทศอียิปต์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย หะซัน อัลบันนา (Hasan al Banna) ในปี ค.ศ.1928 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ทรงพลังยิ่งในการจุดประกาย Political Islam และกระแสการฟื้นฟูอิสลาม อย่างไรก็ตาม ฮามาสก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1987 โดยมี เชคอะห์มัด ยาซีน เป็นผู้นำคนแรก และมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือมุสลิมในปาเลสไตน์ต่อสู้กับอิสราเอล รวมทั้งมีนโยบายที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในการเปลื่ยนแปลงสังคมมุสลิมในปาเลสไตน์ให้กลับไปมีความเคร่งครัด และยึดมั่นหลักการแห่งศาสนาอิสลาม โดยมีเป้าหมายสุดยอด คือการขับไล่อิสราเอลออกจากดินแดนปาเลสไตน์ พร้อมกับสถาปนารัฐที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นธรรมนูญในการปกครอง ซึ่งปัจจุบันได้รับการเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาล ดังนั้น แม้จะถูกอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ขึ้นบัญชีดำให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์แล้วนั้น ฮามาส คือ วีรบุรุษที่ยืนหยัดต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิชาวปาเลสไตน์ ซึ่งในการต่อสู้กับอิสราเอลนั้น ฮามาสมีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนถึงการไม่ยอมรับสถานะของรัฐอิสราเอล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น